ส้วมหลุม ส้วมโบราณ ส้วมสมัยก่อน หน้าตาเป็นอย่างไร มาดูประวัติส้วมไทยไปด้วยกัน ? กว่าจะวิวัฒนาการมาเป็นห้องน้ำตามบ้าน ห้องน้ำน็อคดาวน์ หรือ  ชักโครก สำหรับกดชำระสิ่งสกปรก สิ่งปฎิกูล ที่ช่วยให้ห้องน้ำสะอาดถูกสุขลักษณะและสะดวกกับการใช้งานได้อย่างทุกวันนี้ ครั้งหนึ่งเราเคยไปนั่งถ่าย ตามป่า ตามทุ่ง กันมาก่อน ซึ่ง ส้วม เก่าแก่ที่สุดของประเทศไทยที่มีหลักฐานการค้นพบมีอายุกว่า 700 ปี เลยทีเดียว ก่อนจะมีวิวัฒนาการมาเรื่อย ๆ เราจะมาดูกันว่าอดีตกาลกว่าจะมาเป็นส้วมชักโครกแบบที่เราเห็นในปัจจุบันนี้ การปลดทุกข์ของผู้คนในแผ่นดินสยามในอดีตกาลนั้นเป็นอย่างไร

 

 

วิวัฒนาการส้วมไทย ส้วมหลุม ส้วมโบราณ

วิวัฒนาการของส้วมไทยมีการเปลี่ยนแปลงอย่างมาก โดยพัฒนาจากระยะเวลาตั้งแต่ในช่วงอดีตจนถึงปัจจุบัน ปัจจัยหลัก ๆ ที่ทำให้เกิดการพัฒนา คือ สภาพความเป็นอยู่ของสังคมของคนสมัยนั้นๆ ความทันสมัย และอิทธิพลของวัฒนธรรมตะวันตกที่แผ่ขยายเข้ามามีบทบาทในสังคม ความนิยมของส้วมแบบตะวันตกจึงเติบโตขึ้นในประเทศไทย วันนี้แอดมินจะพาไปรับชม ส้วมไทยว่ามีวิวัฒนาการอย่างไรบ้าง

1. ทุ่ง ท่า ป่า แม่น้ำ

ทุ่ง ท่า ป่า แม่น้ำ สำหรับการขับถ่ายของชาวบ้านทั่วไปในสมัยก่อน จะไม่มีสถานที่เฉพาะเจาะจงหรือพื้นที่ส่วนตัวแบบทุกวันนี้ จะอาศัยเดินเข้าไปขับถ่ายตามป่า ตามทุ่ง หรือพื้นที่ลับตาคน ซึ่งจะเลือกบริเวณพื้นที่ที่ใกล้แหล่งน้ำเพื่อไว้ทำความสะอาด ขณะที่ส่วนของชนชั้นสูง อาจมีการกั้นห้องเพื่อไม่ให้เห็นในขณะขับถ่าย สิ่งปฎิกูลจะให้บ่าวไพร่นำไปทิ้งภายหลัง

2. ส้วมแบบหลุม

ส้วมหลุม เป็นยุคแรกเริ่มของการวิวัฒนาการ จากเดิมที่ขับถ่ายตามทุ่ง ตามป่า มีการพัฒนาขุดหลุมสำหรับถ่ายสิ่งปฎิกูล เมื่อเสร็จกิจธุระก็จะฝังกลบเพื่อให้ให้เกิดกลิ่นเหม็นและความสกปรก สำหรับชนชั้นสูงจะมีสร้างตัวเรือนคลอบคลุมส้วมที่ขุดหลุมดินไว้บนปากหลุมอย่างง่าย ๆ ใช้ไม้มาพาดเหยียดเวลาถ่าย หรือ ทำฐานโดยใช้ไม้กระดานมาปิดแล้วเจาะช่องสำหรับถ่าย

3. ส้วมในสมัยสุโขทัย

ส้วมในสมัยสุโขทัย หรือ ส้วมของพระสงฆ์ เรียกอีกอย่างว่า “วัจจกุฎี” / “เร็จกุฎี” / “ถาน” เป็นส้วมเก่าแก่ที่ถูกค้นพบในสมัยสุโขทัยมีอายุราว 700 ปี มีลักษณะเป็นแผ่นรองรับเท้าในขณะขับถ่าย ซึ่งวางไว้เหนือหลุมอุจจาระ จำนวน 3 แผ่น ประกอบไปด้วยเขียงหิน 2 แผ่น เขียงไม้ 1 แผ่น ส่วนด้านหน้ามีรางยาวเพื่อระบายปัสสาวะให้ไหลลงภาชนะที่วางรองรับอยู่

4. ส้วมถังเท

ยุคของการพลัดเปลี่ยนการขับถ่าย จากเดิมที่พฤติกรรมการขับถ่ายของผู้คนในสมัยนั้น ที่ขับถ่ายเรี่ยราดตามถนน หนทาง ทำให้ทุกพื้นที่เกลื่อนกลาดไปด้วยกองอุจจาระและเป็นสาเหตุของโรคระบาด ทำให้ในปีพ.ศ. 2440 ได้มีการจัดตั้งกรมสุขาภิบาลขึ้นมาและได้มีการสร้างส้วมสาธารณะขึ้นครั้งแรก เรียกว่า “เวจสาธารณะ” มีลักษณะเป็นห้องน้ำแบบชุด กั้นห้องครั้งละ 5 – 6 ห้อง ด้านบนเป็นไม้กระดานเจาะรูสำหรับขับถ่ายไว้ การขับถ่ายจะถ่ายลงไปที่ถังแทนหลุม และจะมีการจัดเก็บถังปฎิกูลไปทิ้งทุกวันและเปลี่ยนถังใหม่มาแทน หลังจากนั้นได้มีการพระราชกำหนดสุขาภิบาลกรุงเทพฯ ร.ศ. 116 มีผลบังคับให้ทุกคนต้องขับถ่ายในส้วม ภายหลังจึงได้มีความนิยมที่สร้างส้วมไว้ตามบ้านเรือนสืบต่อมา

5. ส้วมคอห่าน / ส้วมซึม

พ.ศ. 2467 ได้มีการคิดค้นส้วมคอห่าน ลักษณะเป็นโถส้วมแบบนั่งยอง ส่วนล่างของโถทำเป็น “คอห่าน” หรือ “คอหงษ์” เมื่อใช้เสร็จแล้วต้องเอาน้ำมาราด คอห่านที่โค้งงอทำให้น้ำที่ราดผลักดันรางขับถ่ายลงบ่อ และเหลือน้ำค้างอยู่ที่โถช่วยกันแมลงวันไม่ให้ลงไปได้ ส้วมคอห่านเป็นส้วมชนิดที่เมื่อถ่ายทุกข์แล้ว เทราดน้ำให้อุจจาระไหลซึมลงไปในดิน จึงเรียกวิธีการนี้ว่า “ส้วมซึม”

6. ส้วมชักโครก

ส้วมชักโครก ที่คุ้นเคยในปัจจุบันเรียกชื่อว่า ชักโครก หรือ ส้วมนั่งราบ เพราะเวลาเสร็จการใช้งาน จะต้องชักคันโยกปล่อยน้ำลงมามีเสียงน้ำดัง จึงเรียกว่า “ชักโครก” น้ำก็จะไหลลงมาชำระล้างโถส้วม ให้สิ่งที่ขับถ่ายไปยังถังเก็บกักที่เรียกว่าเส็ปติดแทงค์ หรือถังเกรอะต่อไป ส้วมชักโรกใช้เวลานานกว่าจะเผยแพร่ และเริ่มมีมากขึ้นในช่วงการก่อสร้างบ้านแบบใหม่หลังสงครามโลครั้งที่ 2 จนถึงศตวรรษ 2500